วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

บทที่ 6 ภาพฉาย (ORTHOGRAPHIC DRAWING)

 ภาพฉาย (ORTHOGRAPHIC DRAWING)
สาระการเรียนรู้
        ในงานช่างอุตสาหกรรมจะนำแบบงานไปเป็นแบบที่ใช้สำหรับสร้างชิ้นส่วนเครื่องจักรกลหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะต้องเป็นแบบที่เขียนได้ง่าย มีรายละเอียดของแบบงานครบถ้วนสมบูรณ์ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปปฏิบัติตามแบบได้อย่างถูกต้อง แบบงานที่นิยมจะเขียนเป็นแบบภาพฉาย เพราะสามารถแสดงรายละเอียดต่างๆ เช่น รูปร่าง ผิวงาน และกำหนดขนาดที่ชัดเจน
        เนื้อหา
        1. ลักษณะการฉายภาพ
        2. ตำแหน่งการมองภาพฉาย
        3. การฉายภาพมุมที่ 1
        4. การฉายภาพมุมที่ 3
        จุดประสงค์การเรียนรู้
        1. บอกลักษณะของการฉายภาพได้
        2. บอกตำแหน่งการมองภาพฉายได้
        3. สามารถเขียนภาพฉายมุมที่ 1 ได้
        4. สามารถเขียนภาพฉายมุมที่ 3 ได้
1. ลักษณะการฉายภาพ
           ภาพฉาย เป็นภาพลายเส้นที่บอกขนาดสัดส่วนต่างๆ ที่อ่านค่าแล้วเอามาทำงานได้ ภาพฉายส่วนใหญ่จะเขียนหรืออ่านมาจากภาพไอโซเมตริกหรือภาพของจริง มองแต่ละด้านแล้วเขียนออกมาตามภาพที่มองเห็นนั้นๆ ในแต่ละด้านของชิ้นงานตามปกติชิ้นงานจะมีทั้งหมด 6 ด้าน เหมือนลูกเต๋า แต่ภาพในการทำงานจริงจะใช้เพียง 3 ด้าน เท่านั้น ในส่วนที่มองไม่เห็นจะเขียนแสดงด้วยเส้นประ
ด้านของภาพที่ใช้งานจะเป็นด้านหน้า (Front View : F) ด้านข้าง (Side View : S) และ ด้านบน (Top View : T) เท่านั้น
การฉายภาพในปัจจุบันจะฉายภาพได้ 2 แบบ ตามความนิยม คือ อุตสาหกรรมทางยุโรป และอุตสาหกรรมทางอเมริกา ดังนี้
1. การฉายภาพมุมที่ 1 (FIRST ANGLE PROJECTION) เป็นการเขียนภาพฉายในครอดแลนด์ที่ 1 อาจเรียกการฉายภาพแบบ E-TYPE ใช้เขียนกันทางยุโรปซึ่งนิยมในทางปัจจุบัน
2. การฉายภาพมุมที่ 3 (THIRD ANGLE PROJECTION) เป็นการเขียนภาพฉายในครอดแลนด์ที่ 3 อาจเรียกการฉายภาพแบบ A-TYPE เป็นที่นิยมในอเมริกา
การมองภาพที่อยู่ในตำแหน่งมุมที่ 1 หรือมุมที่ 3 จะใช้สัญลักษณ์บอกลักษณะไว้ที่มุมขอบขวาของแบบด้านใดด้านหนึ่ง ควรจำสัญลักษณ์ให้แม่นยำเพื่อจะได้ไม่สับสน
  2. ตำแหน่งการมองภาพฉาย
        แสดงการมองภาพในตำแหน่งต่างๆ เพื่อจะเขียนภาพฉาย
  การมองภาพฉาย เกิดจากดวงตามองไปยังวัตถุ ถ้าเอาจอไปรับภาพของวัตถุวางไว้ด้านหลัง แล้วใช้ไฟฉายส่องไปยังวัตถุ แสงของไฟฉายผ่านวัตถุ ทำให้เกิดภาพบนจอ ในลักษณะของการขยายภาพให้โตขึ้น ซึ่งไม่ใช่ขนาดของภาพจริง แต่ในทางการเขียนแบบต้องการขนาดภาพเท่ากับของจริง (วัตถุที่นำมามอง) ดังนั้นจึงต้องปรับเส้นในการฉายภาพให้เป็นภาพขนาน เพื่อจะให้ได้ขนาดตามความเป็นจริง โดยกำหนดให้เส้นการมองอยู่ในแนวระนาบพุ่งตรงจากวัตถุไปยังจอภาพ ภาพที่ปรากฏบนจอจะมีขนาดเท่ากับวัตถุนั้นๆ การฉายภาพในลักษณะเช่นนี้ จัดเป็นการฉายภาพในมุมที่หนึ่งของหลักการมองภาพฉาย วัตถุจะอยู่หน้าจอรับภาพ ด้านที่นิยมได้แก่ ภาพด้านหน้า ภาพด้านข้าง และภาพด้านบนที่ใช้ในการเขียนภาพฉาย ซึ่งช่วยให้อ่านภาพได้ง่ายขึ้น
  3. ภาพฉายมุมที่ 1
การมองภาพฉายในตำแหน่งมุมที่ 1 ฉากรับภาพจะอยู่ด้านหลังของชิ้นงาน ทำการฉายภาพให้ไปปรากฏบนฉาก มองเห็นภาพอย่างไรภาพก็จะไปปรากฏบนฉากอย่างนั้นจากด้านที่มอง ซึ่งภาพในทางเขียนแบบจะใช้เฉพาะภาพด้านหน้า ด้านข้าง และภาพด้านบนเท่านั้น
  4. ภาพฉายมุมที่ 3
การมองภาพฉายในตำแหน่งมุมที่ 3 ฉากรับภาพจะอยู่ด้านหน้าของชิ้นงาน การฉายภาพ แสงส่องจะกระทบชิ้นงานแล้วสะท้อนมาปรากฎยังฉากรับภาพ จะได้ภาพตามที่มอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น